ระยะเวลาเอาประกันภัย

ระยะเวลาเอาประกันภัย

เวลานี้ได้รับทราบว่า จะมีความพยายามปรับปรุงระยะเวลาเอาประกันภัยของกรมธรรม์ประกันวินาศภัยที่มีค่อนข้างหลากหลาย ให้เป็นระยะเวลาเอาประกันภัยมาตรฐานเดียวกันเท่าที่จะเป็นไปได้ จึงถือโอกาสนี้มาพูดถึงเรื่องระยะเวลาเอาประกันภัย

ระยะเวลาเอาประกันภัย (Policy Period หรือ Period of Insurance หรือ Insured Period) หมายความถึง ระยะเวลาตามที่ผู้รับประกันภัยกับผู้เอาประกันภัยตกลงกันในสัญญาประกันภัย หรือในความเข้าใจทั่วไป คือ ระยะเวลาที่กรมธรรม์ประกันภัยจะให้ความคุ้มครองนั่นเอง แต่อันที่จริง เมื่อพิจารณาให้ลึกลงไป คำว่า "ระยะเวลาเอาประกันภัย" กับ "ระยะเวลาความคุ้มครอง (Coverage Period หรือ Period Covered)" อาจมีความหมายที่ต่างกัน เช่นเดียวกับคำว่า "สัญญาประกันภัย" กับ "กรมธรรม์ประกันภัย" ซึ่งจะได้พิจารณากันต่อไป

ระยะเวลาเอาประกันภัยนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 867 วรรคสาม กำหนดให้กรมธรรม์ประกันภัยต้องมีรายการดังต่อไปนี้ โดยรายการข้อที่ 6 ระบุว่า "ถ้าหากสัญญาประกันภัยมีกำหนดเวลา ต้องลงเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดไว้ด้วย" แต่ในทางปฎิบัติ ได้มีการกำหนดระยะเวลาที่หลากหลาย ซึ่งขออ้างอิงจากวารสารกรมการประกันภัยที่เคยอ่านพบเมื่อร่วมสามสิบปีมาแล้ว และได้นำไปเรียบเรียงลงไว้ในคู่มือตัวแทนประกันภัยที่จัดทำขึ้นมาแจกให้แก่ ตัวแทนประกันภัยของบริษัทประกันภัยที่เคยทำงานอยู่ในสมัยนั้น น่าเสียดายที่คู่มือฉบับที่ผมเก็บติดตัวไว้เสมอได้สูญหายไปแล้ว เหลือแต่เพียงร่างลายมือเขียนของตนเองเท่านั้น

กรมธรรม์ประกันวินาศภัยประกอบด้วยการกำหนดรูปแบบของระยะเวลาเอาประกันภัยออกได้เป็น 8 ลักษณะ ดังนี้
1) ระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดในเวลา 16.00 น.
2) ระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดในเวลา 16.30 น.
3) ระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดในเวลา 12.00 น.
4) ระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดในเวลา 00.01 น.
5) ระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุด สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยแบบเฉพาะเที่ยว หรือช่วงการเดินทางสั้น ๆ
6) ระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดตามสัญญาว่าจ้าง
7) ระยะเวลาตามกรมธรรม์ประกันภัยมิได้ถูกระบุโดยชัดแจ้ง
8) ระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุด รวมทั้งวันแรกกับวันสุดท้าย (Both Dates Inclusive)

สำหรับรายละเอียดของแต่ละหัวข้อ จะกล่าวถึงในวันต่อไป

ระยะเวลาเอาประกันภัย (ต่อ)

เว้นช่วงไปพูดถึงเรื่องอื่นพอสมควร คราวนี้จะมาพูดเรื่องระยะเวลาเอาประกันภัยกันต่อนะครับ

1) ระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดในเวลา 16.00 น.
กรมธรรม์ประกันภัยจำพวกนี้จะกำหนดระยะเวลาเอาประกันภัยไว้ชัดเจนแน่นอนล่วงหน้าลงไปเลยว่า จะเริ่มต้นโดยมีเงื่อนเวลาความคุ้มครองตั้งแต่เวลา 16.00 น. ของวันที่ระบุให้ความคุ้มครองเป็นวันแรก จวบจนกระทั่งถึงเวลา 16.00 น. ของวันสุดท้ายที่ระบุให้ความคุ้มครอง สมมุติตกลงเอาประกันภัยกันไว้เป็นระยะเวลา 1 ปี เริ่มความคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ของปีปัจจุบัน เวลา 16.00 น. และความคุ้มครองก็จะไปสิ้นสุดในวันที่ 1 มกราคม ของปีถัดไป เวลา 16.00 น. อันได้แก่
(1)    กรมธรรม์ประกันภัยอัคคีภัย (ทั้งอัคคีภัยทั่วไปกับอัคคีภัย สำหรับที่อยู่อาศัย),
(2)    กรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน,
(3)    กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก และ
(4)    กรมธรรม์ประกันภัยป้ายโฆษณา

ฉะนั้น กรมธรรม์ประกันภัยจำพวกนี้ จะไม่สามารถกำหนดเงื่อนเวลาให้เริ่มต้นได้ตามใจชอบ ทั้งผู้รับประกันภัย กับผู้เอาประกันภัย หรือกระทั่งคนกลางประกันภัย (ตัวแทนกับนายหน้าประกันภัย) จึงต้องพึงระมัดระวังในการตกลงทำสัญญาประกันภัยระหว่างกัน
   
2) ระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดในเวลา 16.30 น.

หากตกลงทำสัญญาประกันภัยกันไว้หนึ่งปี โดยเริ่มต้นความคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ของปีปัจจุบันเป็นต้นไป กรมธรรม์ประกันภัยจะระบุเงื่อนเวลาคุ้มครองเริ่มต้นตั้งแต่ 16.30 น. ในวันแรกที่คุ้มครอง นับเรื่อยไปจนสิ้นสุดความคุ้มครองในเวลา 16.30 น. ของวันที่ 1 มกราคม ในปีถัดไป
ปัจจุบันนี้ ยังไม่มีกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใดที่กำหนดเงื่อนเวลาเริ่มต้นล่วงหน้าชัดเจนแน่นอน โดยให้คู่สัญญาประกันภัยสามารถกำหนดเวลาเริ่มต้นจะเป็นเวลาใดก็ได้ แต่เงื่อนเวลาสิ้นสุดจะต้องเป็นเวลา 16.30 น. เสมอ อันได้แก่
(1)  กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ทุกประเภท
                      ในคู่มือการตีความของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ระบุว่า ในการเอาประกันภัยปีแรก ให้กำหนดเงื่อนเวลาเริ่มต้นเวลา 00.01 น. เป็นต้นไป ในกรณีที่แจ้งระบุวันที่เอาประกันภัยล่วงหน้า หรือในเวลาที่คู่สัญญาประกันภัยตกลงกัน กรณีที่แจ้งขอเอาประกันภัยในวันเดียวกันกับวันที่เริ่มต้นระยะเวลาเอาประกันภัย ยกตัวอย่างเช่น คู่สัญญาประกันภัยกำหนดให้เริ่มความคุ้มครองตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของปีปัจจุบัน) เป็นต้นไป เงื่อนเวลาเริ่มต้นของวันพรุ่งนี้ คือ ตั้งแต่เวลา 00.01 น. เป็นต้นไป และจะไปสิ้นสุดความคุ้มครองหนึ่งปีกันในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของปีถัดไปในเวลา 16.30 น. แต่ถ้าตกลงกันให้เริ่มความคุ้มครองในวันนี้ สมมุติคือ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ของปีปัจจุบัน ก็จะมีผลเริ่มตั้งแต่เวลาที่คู่สัญญาประกันภัยทั้งสองฝ่ายตกลงกันเป็นต้นไป จนกระทั่งไปสิ้นสุดความคุ้มครองในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของปีถัดไป ในเวลา 16.30 น. แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ในตารางกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์เองกลับมิได้มีช่องให้ระบุเวลาเริ่มต้นเอาไว้อย่างชัดแจ้ง อาจก่อให้เกิดข้อโต้แย้งกันถึงเวลาเริ่มต้นความคุ้มครองที่แท้จริงขึ้นมาได้ในภายหลัง
              (2)  กรมธรรม์ประกันภัยดังต่อไปนี้ เงื่อนเวลาเริ่มต้นจะเป็นกี่โมงก็ได้แล้วแต่จะได้ตกลงกัน แต่เวลาสิ้นสุดจะต้องเป็นเวลา 16.30 น. เสมอ อันได้แก่
                    (2.1)  กรมธรรม์ประกันภัยการเดินทางไปต่างประเทศ ไม่ว่าแบบรายปี หรือรายเที่ยว,
                    (2.2)  กรมธรรม์ประกันภัยการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุ,
                    (2.3)  กรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองการว่างงาน,
                    (2.4)  กรมธรรม์ประกันภัยร้านทอง,
                    (2.5)  กรมธรรม์ประกันภัยการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น
                              จากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย,
                    (2.6)  กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายจากการขนส่งวัตถุอันตรายทางบก,
                    (2.7)  กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายอันเกิดจากการประกอบกิจการควบคุม
                              ประเภทที่ 3 ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง,
                    (2.8 )  กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายที่เกิดจากความบกพร่องในการปฎิบัติงาน
                              ไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานการตรวจสอบตามกฎหมายในฐานะผู้ตรวจสอบอาคาร,
                    (2.9)  กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุ (กรณีชำระเบี้ยประกันภัยรายปี),
                    (2.10) กรมธรรม์ประกันภัย 200 สำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) และ
                    (2.11) กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก

3) ระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดในเวลา 12.00 น.

กรมธรรม์ประกันภัยจำพวกนี้ จะกำหนดเงื่อนเวลาความคุ้มครองไว้ชัดเจนแน่นอนทั้งเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุด คู่สัญญาประกันภัยจะไม่สามารถตกลงเงื่อนเวลาเริ่มต้นได้ตามความประสงค์เลย หากกำหนดระยะเวลาเอาประกันภัยกันไว้ 1 ปี โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ของปีปัจจุบัน  ก็จะเริ่มต้นความคุ้มครองตั้งแต่เวลา 12.00 น. เป็นต้นไป จนกระทั่งไปสิ้นสุดความคุ้มครองในวันที่ 1 มกราคม ของปีถัดไป เวลา 12.00 น. อันได้แก่
(1)      กรมธรรม์ประกันภัยอิสรภาพ ไม่ว่าก่อน หรือหลังกระทำความผิด,
(2)      กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุเอื้ออาทร และ
(3)      กรมธรรม์ประกันภัยหม้อน้ำและภาชนะรับแรงดัน
(4)      การประกันภัยสิ่งก่อสร้างที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว (Civil Engineering Completed Risks)

อนึ่ง สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยดังต่อไปนี้ มิได้มีกำหนดเงื่อนเวลาเริ่มต้นไว้อย่างชัดแจ้ง ขึ้นอยู่กับว่าจะตกลงให้เริ่มต้นกันตั้งแต่เวลาใด คงมีแต่เวลาสิ้นสุดความคุ้มครองเท่านั้นที่ระบุว่า จะต้องเป็นเวลา 12.00 น. เสมอ อันได้แก่
              (1)  กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุ ไม่ว่าส่วนบุคคล กลุ่ม หรือนักเรียนนิสิตนักศึกษา,
              (2)  กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุประเภทผู้ขับขี่และผู้โดยสารไม่ระบุชื่อ,
              (3)  กรมธรรม์ประกันภัยสำหรับผู้โดยสารเรือโดยสารรับจ้าง,
              (4)  กรมธรรม์ประกันภัยเงินค่าทดแทนคนงาน (Workmen‘s Compensation Insurance)
              (5)  กรมธรรม์ประกันภัยสำหรับเงิน,
              (6)  กรมธรรม์ประกันภัยโจรกรรม,
              (7)  กรมธรรม์ประกันภัยเครื่องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์,
              (8 )  กรมธรรม์ประกันภัยผู้เล่นกอล์ฟ,
              (9)  กรมธรรม์ประกันภัยสุขภาพ,
              (10) กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่อง,
              (11) กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดของผู้ขนส่ง และ
              (12) กรมธรรม์ประกันภัยสินค้าที่ขนส่งภายในประเทศแบบกำหนดเวลา

4) ระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดในเวลา 00.01 น.

กรมธรรม์ประกันภัยจำพวกนี้จะอาศัยเงื่อนเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดความคุ้มครองตามวันเวลาของปีปฎิทิน หากตกลงกำหนดระยะเวลาเอาประกันภัยกันไว้ 1 ปี ในวันที่ 1 มกราคม ของปีปัจจุบัน จะเริ่มต้นความคุ้มครองตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันที่ 1 มกราคม ของปีปัจจุบันเป็นต้นไป และจะไปสิ้นสุดความคุ้มครองในวันที่ 31 ธันวาคม ปีปัจจุบัน เวลา 24.00 น. โดยอาจทำให้ผู้เอาประกันภัยบางคนที่ไม่ได้อ่านกรมธรรม์ประกันภัยของตนอย่างละเอียด อาจเข้าใจผิดว่ากรมธรรม์ประกันภัยของตนนั้น ยังมีผลคุ้มครองถึง วันที่ 1 มกราคมของปีหน้า ด้วย อันได้แก่
(1)    กรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทุกชนิด,
(2)    กรมธรรม์ประกันภัยความซื่อสัตย์ของลูกจ้าง,
(3)    กรมธรรม์ประกันภัยเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้าง และ
(4)    กรมธรรม์ประกันภัยความล่าช้าในการดำเนินงาน (Delay in Start-Up Insurance Policy)

5) ระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุด สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยแบบเฉพาะเที่ยว หรือช่วงการเดินทางสั้น ๆ

สามารถแบ่งออกได้เป็นดังนี้
5.1) กรมธรรม์ประกันภัยที่คุ้มครองการเดินทางช่วงสั้น ซึ่งมีกำหนดวันที่และเวลาที่จะเริ่มต้น และสิ้นสุดความคุ้มครองตามความต้องการของผู้ขอเอาประกันภัยเอง
                      ได้แก่
        (1)  กรมธรรม์การประกันภัยอุบัติเหตุเดินทาง
เช่น ผู้ขอเอาประกันภัยประสงค์จะเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปภูเก็ต และกลับมากรุงเทพฯ รวมเป็นเวลา
7 วัน โดยเริ่มความคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ของปีปัจจุบัน ณ เวลา 06.00 น. กรมธรรม์
ประกันภัยฉบับนี้ก็จะสิ้นสุดความคุ้มครองในวันที่ 8 มกราคม ในปีเดียวกัน ณ เวลา 06.00 น.
เช่นเดียวกัน
          5.2) กรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองการขนส่งเฉพาะเที่ยว
                      ได้แก่
(1)    กรมธรรม์ประกันภัยสินค้าที่ขนส่งภายในประเทศแบบขนส่งเฉพาะเที่ยว,
(2)    กรมธรรม์ประกันภัยการขนส่งสินค้าทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ระหว่างประเทศ
                    จุดเริ่มต้นของความคุ้มครอง อาจจะเป็นวันที่ที่มีการคุ้มครองเที่ยวนั้น ในเวลาขนส่งสินค้าที่เอาประกันภัยออกจากคลังเก็บสินค้าของผู้ขาย หรือในเวลาที่ขนส่งสินค้านี้ลงจากเรือบรรทุกสินค้า ทั้งนี้ ย่อมขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยว่า เป็นแบบใด และการคุ้มครองอาจสิ้นสุดลง เมื่อขนสินค้าที่เอาประกันภัยนั้นถึงท่าเรือปลายทาง หรือถึงคลังเก็บสินค้าของผู้ซื้อ ณ เมืองท่าปลายทาง ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยเช่นเดียวกัน

6) ระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดตามสัญญาว่าจ้าง

อันได้แก่ กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญา (Contract Works Insurance Policy) (หรือก็คือ กรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทุกชนิดของผู้รับเหมาก่อสร้าง (Contractor All Risks) กับกรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทุกชนิดของผู้รับเหมาติดตั้งเครื่องจักร (Erection All Risks) นั่นเอง)

ระยะเวลาของความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยจะเป็นไปตามวันที่ที่ระบุไว้ในสัญญาการว่าจ้าง ตัวอย่าง เช่น  ผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารสำนักงานแห่งหนึ่ง มีสัญญาการจ้างงานก่อสร้างโครงการนี้ เริ่มงานตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน ของปีปัจจุบัน และจะต้องส่งมอบงานก่อสร้างโครงการนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 480 วัน และมีความคุ้มครองในช่วงบำรุงรักษาอีก 12 เดือน กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ก็จะระบุเริ่มคุ้มครองตามวันที่ทำสัญญาว่าจ้างในวันที่ 15 มกราคม ของปีปัจจุบัน และสิ้นสุดความคุ้มครองภายในวันที่ 9 พฤษภาคม ของปีถัดไป และคุ้มครองในช่วงบำรุงรักษาอีก 12 เดือน คือ ตั้งแต่ วันที่ 10พฤษภาคม ของปีถัดไป ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม ของปีถัดไปอีกหนึ่งปี หากผู้รับเหมารายนี้ทำงานไม่แล้วเสร็จตามกำหนดเวลาในสัญญาว่าจ้าง และประสงค์จะขยายระยะเวลาของกรมธรรม์ประกันภัยต่อไปอีก ก็จำต้องมาตกลงกับบริษัทประกันภัยเพื่อขยายระยะเวลาเอาประกันภัยออกไปตามแต่จะได้ตกลงกัน 

อนึ่ง เวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดนั้น ไม่ได้มีช่องว่างให้เติมในตารางกรมธรรม์ประกันภัย จึงต้องถือว่า เงื่อนเวลาเริ่มตั้งแต่
เวลา 00.01 น. และสิ้นสุดในเวลา 24.00 น.

7) ระยะเวลาตามกรมธรรม์ประกันภัยมิได้ถูกระบุโดยชัดแจ้ง

นอกจากนี้ ยังมีข้อน่าสังเกตข้อหนึ่งในเรื่องของกรมธรรม์ประกันภัยดังต่อไปนี้ ซึ่งปัจจุบันไม่มีการกำหนดเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุด ให้แน่ชัดอย่างกรมธรรม์ประกันภัยประเภทอื่นๆ เลย คงปล่อยให้เป็นการตกลงระหว่างผู้เอาประกันภัยกับบริษัทประกันภัย ในการกำหนดเวลากันเอาเองตามใจชอบ แต่ในทางปฏิบัติส่วนใหญ่แล้ว หลายบริษัทประกันภัยจะกำหนดเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดเป็น 12.00 น. หรือเวลา 24.00 น. เช่นเดียวกับกรมธรรม์ประกันภัยอื่นในลักษณะเดียวกัน
(1)          กรมธรรม์ประกันภัยเครื่องจักร,
(2)          กรมธรรม์ประกันภัยความเสื่อมสภาพของสินค้าในห้องเย็น
(3)          กรมธรรม์ประกันภัยกระจก และ
(4)          กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (กรณีชำระเบี้ยประกันภัยรายเดือนโดยหักบัญชีธนาคาร หรือบัตรเครดิต)

8 ) ระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุด รวมทั้งวันแรกกับวันสุดท้าย (Both Dates Inclusive)

โดยทั่วไป ในกรณีที่มิได้มีการระบุเวลาเริ่มต้น และเวลาสิ้นสุดโดยชัดแจ้ง คำว่า “ระยะเวลาเอาประกันภัย 1 ปี” สมมุติว่ามีกรมธรรม์ประกันภัยฉบับแรกกับกรมธรรม์ประกันภัยฉบับต่ออายุต่อเนื่องกันสองฉบับ หลักการพิจารณาจะเป็นดังนี้

กรมธรรม์ประกันภัยฉบับแรก เริ่มคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2552 ณ เวลา 16.30 น. โดยจะครบรอบ 1 ปี หรือ 12 เดือนพอดี ก็ควรจะต้องสิ้นสุดในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2553  ณ เวลา 16.29 น. หรืออีกนัยหนึ่งคือ เวลาจะสิ้นสุดก่อนที่เข็มนาฬิกาจะเคลื่อนไปอยู่ที่เวลา 16.30 น. ตรง ของวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2553

กรมธรรม์ประกันภัยฉบับต่ออายุเป็นฉบับที่สอง จะเริ่มคุ้มครองอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2553 ณ เวลา 16.30 น. ไปครบรอบ 1 ปี ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2554 ณ เวลา 16.29 น. เช่นกัน

ฉะนั้น หากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นในเวลา 16.30 น. ของวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2552 หรือเวลา 16.29 น. ของวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2553 ล้วนจะอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับแรก แต่ถ้าเกิดเหตุในเวลา 16.30 น. ของวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2553 ก็จะเป็นภาระความรับผิดของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับที่สองแทน ทำให้สามารถแยกแยะความรับผิดของกรมธรรม์ประกันภัยแต่ละฉบับได้อย่างชัดเจน

เช่นเดียวกับกรณีระบุเวลาสิ้นสุดเป็นเที่ยงคืน หากกรมธรรม์ประกันภัยเริ่มคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2552 จะต้องระบุเวลาเริ่มต้น ณ เวลา 00.01 น. และไปครบรอบหนึ่งปี ในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ณ เวลา 24.00 น.

ครั้นในทางปฎิบัติ ทั้งผู้เอาประกันภัย หรือผู้รับประกันภัยยังมีความกังวลใจอยู่ว่า การระบุเวลาสิ้นสุดลงไปข้างต้นนั้น ดูเสมือนหนึ่งจะมีช่วงเวลาที่ขาดหายไปโดยปราศจากความคุ้มครอง เช่น ช่วงเวลาคาบเกี่ยวระหว่างเวลา 16.29 น. กับ เวลา 16.30 น. หรือเวลา 24.00 น. กับเวลา 00.01 น. ด้วยเหตุนี้ ผู้เอาประกันภัยกับผู้รับประกันภัยจึงนิยมเลือกตกลงให้วันเริ่มต้นกับวันสิ้นสุดเป็นวันและเวลาเดียวกัน ซึ่งเรียกวิธีการนี้ว่า “รวมวันแรกและวันสุดท้าย (Both Dates Inclusive)” เช่น หากเอาประกันภัยไว้ 1 ปี ในวันที่ 1 มกราคม ปีปัจจุบัน จะเริ่มความคุ้มครองตั้งแต่เวลา 00.01 น. และจะไปสิ้นสุดความคุ้มครองในวันที่ 1 มกราคม ปีถัดไป ณ เวลา 00.01 น. ได้แก่
(1)        กรมธรรม์ประกันภัยเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้าง และ
(2)        กรมธรรม์ประกันภัยเครื่องจักร,
(3)        กรมธรรม์ประกันภัยความเสื่อมสภาพของสินค้าในห้องเย็น

อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้ จะส่งผลทำให้มีวันเวลาสิ้นสุดของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับแรก ไปทับซ้อนกับวันเวลาเริ่มต้นของกรมธรรม์ประกันภัยต่ออายุเป็นฉบับที่สอง (ไม่ว่าจะต่ออายุกับบริษัทประกันภัยเดิม หรือย้ายไปทำประกันภัยกับบริษัทประกันภัยใหม่) เหมือนดังเช่น กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย เป็นต้น

สรุป

เท่าที่รับทราบมา แนวความคิดของสำนักงาน คปภ. กับสมาคมประกันวินาศภัยไทยประสงค์จะลดเงื่อนเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดที่มีความแตกต่างกันข้างต้น ให้เหลือเงื่อนเวลาที่แตกต่างกันน้อยที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ โดยอาศัยเงื่อนเวลาสิ้นสุดที่ 16.30 น. เป็นเกณฑ์มาตรฐาน 


ID=3091,MSG=4375


⭐️ เราให้คำแนะนำปรึกษา รักษาผลประโยชน์ให้ลูกค้า ของเรา
⭐️ เราอยู่เคียงข้างลูกค้าของเรา ช่วยเหลือ ดูแลบริการ
⭐️ เรารองรับช่องทางติดต่อมากมาย สะดวก เข้าถึงง่าย
⭐️ เราดำเนินธุรกิจยาวนานกว่า20 ปี คุณจึงมั่นใจได้
⭐️ คุณมีสามารถรับบริการทั้งจากบริษัทประกันเจ้าของสินค้า และ เรา (ตัวกลาง)

ไทย มีราว 80 บริษัทประกันภัย สินค้าที่แตกต่าง ทั้ง เงื่อนไข ราคา เคลม ความมั่นคง นโยบาย ฯลฯ
ขายผ่านตัวกลาง กว่า 500,000 ราย : ตัวแทน นายหน้า ธนาคาร บิ๊กซี โลตัส ค่ายรถยนต์ เฮ้าส์แบรนด์ ของประกันภัย หรือ ซื้อตรงกับบริษัทเจ้าของสินค้า
⭐️ ตัวอย่าง การบริการ กดดูที่ลิงค์นี้

"สิ่งที่ต้องคำนึงอันดับแรกในการซื้อประกัน คือ ตัวกลางประกันภัย ซึ่งจะเป็นที่ปรึกษา ช่วยเหลือ ดูแลเรา ตลอดอายุกรมธรรม์"

โปรดรอ

display:inline-block; position:relative;
โทร.(จ-ศ : 9-16) เว้นวันหยุดฯ , ลูกค้าเรา บริการ 24/7/365 , Tuesday เวลา 05:09:42am ...
Copyright © 2018 Cymiz.com., All rights reserved.นโยบาย,ข้อตกลงcymiz.com